ประเทศไทย 4.0

นายกรัฐมนตรี ชูภาคเอกชนจะนำประเทศไทยก้าวสู่ "ประเทศไทย 4.0" หลังรัฐบาลผลักดันกฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและสร้างเครื่องมือใหม่ดึงดูดการลงทุนด้านรองนายกฯ สมคิดย้ำ "Opportunity Thailand" สร้างโอกาสแห่งอนาคตไทยและอาเซียน เลขาธิการบีโอไอมั่นใจ มาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่จะเกิด "หุ้นส่วนเทคโนโลยี" ระหว่างไทยกับต่างชาติ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “โอกาสกับประเทศไทย 4.0” ในงานสัมมนาและนิทรรศการ “Opportunity Thailand” ซึ่งจัดโดย สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (บีโอไอ) โดยมีนักลงทุนและนักธุรกิจชั้นนําทั้งไทยและจากต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 3,000 ราย ว่าการปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า (ValueBased Economy) และเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) รัฐบาลได้ ดําเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมายด้านการลงทุนที่สําคัญ 2 ฉบับคือ การปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติ ส่งเสริมการลงทุน และพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสําหรับ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วดังนั้น นับจากนี้ไป การลงทุนของภาคเอกชนจะมีบทบาทสําคัญ อย่างยิ่งต่อการปรับเปลี่ยนประเทศสู่ “ประเทศไทย 4.0” ตลอดจนช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง และเติบโตได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้นํา “วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์” มาเป็นตัวขับเคลื่อนในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เรามี พื้นฐานดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น และนําความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยมาพัฒนาให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น



นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า นอกจากรัฐบาลจะมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยมุ่งเน้น อุตสาหกรรมเป้าหมายและเทคโนโลยีแล้ว รัฐบาลยังให้ความสําคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area-based Development Policy) เพื่อกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศอย่างทั่วถึง ซึ่งดําเนินการแล้วได้แก่ การพัฒนาพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านในรูปของ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” ทั้ง 10 จังหวัด และการพัฒนาพื้นที่ตอนในโดยคํานึงถึงความเชื่อมโยงของห่วงโซ่มูลค่าในภาคอุตสาหกรรมและ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ในรูปแบบ “คลัสเตอร์” และที่สําคัญ รัฐบาลได้กําหนดนโยบายการพัฒนาพื้นที่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) โดยมีนโยบายที่จะเร่งการพัฒนา ความพร้อมในทุกด้านเพื่อรองรับการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งด้านสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการอํานวยความสะดวกในรูปแบบ One Stop Service เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้มีความสะดวกรวดเร็วที่สุดและได้ตั้งเป้าหมายให้ พื้นที่ EEC เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

“Opportunity Thailand” ร่วมสร้างโอกาสแห่งอนาคต
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาเรื่อง “การขยายตัวของไทยท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก” ว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาและ สหภาพยุโรป ก็ได้เกิดปรากฎการณ์การแสวงหาความร่วมมือของชาติในเอเชีย ซึ่งต่างก็ตระหนักดีว่า สิ่งที่มี คุณค่ามิได้อยู่ที่การมีทรัพยากรหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ แต่อยู่ที่การเชื่อมโยงของชาติในเอเชียเพื่อสร้าง พลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ เราจึงต้องนําจุดแข็งของประเทศมาเชื่อมโยงกับจุดแข็งของประเทศอื่น และถักทอให้เป็นห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) แห่งเอเชียและเชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่าของโลก

สําหรับประเทศไทย เรามีจุดแข็งหลายประการที่เป็นเอกลักษณ์และสามารถผสานเข้ากับ Value Chain ของเอเชียและของโลกรัฐบาลจึงมั่นใจที่จะสร้างและพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในหลาย อุตสาหกรรมและบริการที่เรามีความเข้มแข็ง อาทิ การเกษตรการท่องเที่ยวการแพทย์ การผลิตรถยนต์แห่งอนาคต รวมถึงศูนย์กลางการบิน เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวและโลจิสติกส์

รัฐบาลจึงได้เร่งการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ แก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของภาคธุรกิจ และพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนของโลกเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนชั้นนําและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอย่างแท้จริง

และที่สําคัญ รัฐบาลกําลังพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ทั้งด้านสาธารณูปโภคระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการอํานวยความสะดวกในรูปแบบ One Stop Service และตั้งเป้าหมายให้พื้นที่ EEC เป็นมหานครแห่ง อนาคต เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน การขนส่งของภูมิภาค เป็นประตูสู่เอเชีย

นายสมคิดกล่าวด้วยว่าการสร้างความเติบโตและพัฒนาของไทยจะต้องมีความสัมพันธ์ในลักษณะ Strategic Partnership กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV เพราะเราเชื่อว่าความ เจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคจะเป็นพลังแม่เหล็กดึงดูดความสนใจจากโลก ดึงดูดการลงทุนและการ ท่องเที่ยวจากโลก ซึ่งประเทศไทยก็มั่นใจว่า นักธุรกิจนักลงทุนที่เข้าร่วมงานในวันนี้พร้อมที่จะเป็น พันธมิตรที่จะร่วมสร้างโอกาสแห่งอนาคตของประเทศไทยและภูมิภาคแห่งนี้

บีโอไอมั่นใจแจ้งเกิด“หุ้นส่วนเทคโนโลยี”
นางหิรัญญา สุจินัยเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่าการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” นั้น จะให้ความสําคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเทคโนโลยีเป็นลําดับแรกเช่น ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเทคโนโลยีเป้าหมาย (Core Technologies: Biotech, Nanotech, Advanced Materials, Digital Technology)

และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมวิจัยพัฒนา ฝึกอบรมเทคโนโลยีขั้นสูง พัฒนาผู้รับช่วงการผลิต รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากร

และที่สําคัญ บีโอไอจะผลักดันให้เกิด “หุ้นส่วนเทคโนโลยีอุตสาหกรรม” (International Consortium) ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนไทย หรือต่างชาติกับมหาวิทยาลัยไทยและต่างประเทศให้ร่วมกันเป็น Strategic Partner



ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานกรรมการส่งเสริมการลงทุน