มาตรการรับรองน้ำหนักตู้สินค้า (Container Weight Verification Rules)


  ในบางครั้งการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นระหว่างทางการขนส่ง สาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือการแจ้งน้ำหนักที่ไม่ถูกต้องของผู้ส่งออกต่อสายเดินเรือ จึงส่งผลกระทบให้การวางแผนระวางเรือ (Stowage Plan) เกิดความผิดพลาด และส่งผลให้น้ำหนักเรือไม่สมดุล จนเกิดอุบัติเหตุขึ้นระหว่างทางการขนส่ง


  องค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ International Maritime Organization (IMO) จึงได้ออกกฎระเบียบใหม่ขึ้นมา มีชื่อว่า Container Weight Verification Rules หรือมาตรการรับรองน้ำหนักตู้สินค้า ภายใต้อนุสัญญา SOLAS (Safety of Life at Sea convention) เพื่อให้ผู้ส่งออก ณ ท่าเรือต้นทางทำการแจ้งน้ำหนักให้กับสายเดินเรือและท่าเรือ ผ่านทางเอกสารในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Shipping Document) ที่มีการรับรองด้วยลายเซ็นต์ที่มีทั้งชื่อและนามสกุล (อาจเป็น Electronic Signature) วัตถุประสงค์ของมาตรการดังกล่าว คือเพื่อใช้ในการวางแผนระวางเรือและความปลอดภัยในการเดินเรือทางทะเล หากสายเดินเรือหรือผู้ประกอบการท่าเรือไม่ได้รับการรับรองและแจ้งน้ำหนักจากผู้ส่งออก ตู้สินค้านั้นๆ จะไม่ถูกยกขึ้นเรือโดยเด็ดขาด โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ในประเทศที่เป็นภาคีในอนุสัญญา SOLAS ทั้งสิ้น 159 ประเทศทั่วโลก

วิธีการรับรองน้ำหนักตู้สินค้าของผู้ส่งออกที่ IMO กำหนด มีทั้งสิ้น 2 วิธี ได้แก่
1) การชั่งน้ำหนักตู้สินค้าทั้งตู้ด้วยเครื่องชั่งที่ได้มาตรฐานและรับการรับรอง
2) การชั่งแยกน้ำหนักสินค้าและน้ำหนักตู้เปล่าเพื่อคำนวณรวมกันเป็นน้ำหนักตู้สินค้าทั้งตู้ด้วยเครื่องชั่งและวิธีการที่ได้มาตรฐานและรับการรับรอง

ขอบคุณภาพจาก JOC

ถาม-ตอบ 5 ประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรการ Container Weight Verification Rules


1. ผู้ส่งออกที่ต้องรับผิดชอบในการรับรองน้ำหนักตู้สินค้าคือใคร ?

ตอบ ตามกฎของ IMO ระบุว่าผู้ที่ทำหน้าที่รับรองน้ำหนักตู้สินค้าคือผู้ส่งออก ซึ่งก็คือผู้ที่มีชื่อปรากฎอยู่ในเอกสาร Bill of Lading (B/L) หรือ Sea waybill ซึ่งนั่นหมายถึงอาจจะเป็นเจ้าของสินค้าที่แท้จริงหรือผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) ที่สามารถออกเอกสาร House Bill of Lading

2. รูปแบบในการรับรองและแจ้งน้ำหนักเป็นอย่างไร?

ตอบ IMO มิได้กำหนดรูปแบบในการรับรองและแจ้งน้ำหนักตู้สินค้าที่ชัดเจน แค่เพียงระบุว่าผู้ส่งออกจะต้องรับรองน้ำหนักตู้สินค้าโดยวิธีที่ 1 หรือวิธีที่ 2 และมีลายเซ็นต์กำกับให้ชัดเจน ดังนั้นรูปแบบขั้นตอนการปฏิบัติ จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือหน่วยงานภาครัฐภายในประเทศนั้นๆ จำเป็นจะต้องออกระเบียบ วิธีปฏิบัติเพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ แต่ก็ต้องผ่านความเห็นชอบร่วมกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ส่งออก สายเดินเรือ ท่าเรือ เป็นต้น

3. Deadline ของการแจ้งน้ำหนักตู้สินค้าคือเมื่อใด?

ตอบ IMO มิได้กำหนดว่า Deadline ของการรับรองและแจ้งน้ำหนักเป็นเมื่อใด เพียงแต่เน้นย้ำว่าน้ำหนักตู้สินค้าดังกล่าว จะต้องถูกส่งให้สายเดินเรือ เพื่อใช้ในการวางแผนระวางเรือ (Stowage Plan) ได้อย่างทันท่วงที และไม่ล่าช้า ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้ส่งออกและสายเดินเรือ จะต้องพัฒนา ปรับปรุงรูปแบบการประสานงานและเชื่อมข้อมูลระหว่างกันให้ดีมากยิ่งขึ้น

4. หากน้ำหนักที่รับรองและแจ้งโดยผู้ส่งออก มีความแตกต่างจากน้ำหนักที่ชั่งได้โดยท่าเรือหรือสายเดินเรือ จะต้องทำอย่างไร ?

ตอบ หลักการสำคัญของมาตรการคือการรับรองและแจ้งน้ำหนักของผู้ส่งออกต่อสายเดินเรือและท่าเรือ แต่เมื่อพบว่ามีความคลาดเคลื่อน ระหว่างน้ำหนักที่แจ้งโดยผู้ส่งออก กับน้ำหนักที่ชั่งโดยสายเดินเรือหรือท่าเรือครั้งสุดท้าย ท่าเรือหรือสายเดินเรือจะต้องเป็นผู้กำหนดว่าจะนำน้ำหนักตัวใดมาใช้ในการวางแผนระวางหรือ หรือกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนที่สามารถยอมรับได้

5. ความแม่นยำของเครื่องชั่งน้ำหนักที่นำมาใช้ชั่ง จะมีมาตรฐานใดเป็นตัวกำหนด ?

ตอบ ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานระหว่างประเทศที่การกำหนดเรื่องความแม่นยำของอุปกรณ์ชั่งน้ำหนักที่เป็นมาตรฐานเดียว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของแต่ละประเทศที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องเป็นผู้กำหนดมาตรฐานภายในประเทศขึ้นมา ซึ่งในเบื้องต้นควรมีความคลาดเคลื่อนของอุปกรณ์เครื่องมือไม่เกิน 5%